สศอ. สร้างสมรรถนะเครือข่ายนานาชาติร่วมกับ KOICA แห่งสาธารณรัฐเกาหลี แบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของไทย ยกร่างแผนปฏิบัติการสาขา BCG Economy เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอย่างยั่งยืน
นายชาลี ขันศิริ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้รับเชิญจาก KOICA : Korea Cooperation International Agency กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อร่วมเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศไทย สำหรับการบรรยายถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ การจัดทำนโยบายสาธารณะและแผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม BCG Economy เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางของสากล ในห้วงการฝึกอบรมนานาชาติเสริมสร้างเครือข่ายสมรรถนะ Capacity Building on Bio-Circular-Green (BCG) Economy for Resilient and Sustainable Manufacturing 2024-2025 ณ Pangyo Techno Valley กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
วันที่ 14 ตุลาคม 2567 Lecture I : Methodology Developing Public Policy and Action Plans - ความสำคัญ รูปแบบของการกำหนดนโยบายสาธารณะ เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการจัดทำและออกนโยบายของภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การปฎิบัติและเป็นเครื่องมือที่มีผลใช้บังคับทางกฎหมายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของสาธารณะและประชาชน โดยนโยบายสาธารณะถือเป็นจุดตั้งต้นของการจัดทำแผนปฏิบัติการรายสาขาและแผนปฎิบัติการของหน่วยงาน ตามทฤษฎีสากล PDCA เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอโครงการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่สะท้อนต่อวัตถุประสงค์ของนโยบายสาธารณะ ทั้งนี้ ได้นำเสนอตัวอย่างแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ของไทย และการบรรจุเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรายสาขาภายใต้ 13 หมุดหมาย ตัวอย่างแผนปฏิบัติการการพัฒนารายสาขาอุตสาหกรรม และแนวทางการจัดทำข้อเสนอโครงการ เพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการและนโยบายสาธารณะ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมได้ประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการ BCG Economy
วันที่ 15 ตุลาคม 2567 Lecture II : Understanding BCG Economy System - ความสำคัญและที่มาของนโยบายสาธารณะสากล SDGs : Sustainable Development Goals ของสหประชาชาติ ผลการดำเนินงานของไทยและแนวทางการมุ่งสู่เป้าหมาย พันธกรณีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก การจัดทำแผนปฏิบัติการของไทยและกระทรวงอุตสาหกรรม สาขาชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว หรือ Bio-Circular-Green (BCG) Economy การนำเสนอผลงานและประสบการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในการจัดทำข้อเสนอนโยบายสาธารณะสาขาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และสาขาอุตสาหกรรมรีไซเคิล การดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายสมรรถนะการฝึกอบรมนานาชาติ ด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทยกับต่างประเทศ เพื่อร่วมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนอันจะนำไปสู่ เป้าหมายการพัฒนา อุตสาหกรรมการผลิตที่ยั่งยืน
การฝึกอบรมนานาชาติดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานยกร่างนำเสนอโครงการไปยังกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดย KOICA ได้คัดเลือกเพื่อนำมาจัดงานและดำเนินกิจกรรมด้วยความร่วมมือของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของไทย และมีผู้แทนจาก 5 ประเทศอาเซียนเข้าร่วม 13 ราย ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม


