สศอ. ร่วมเสวนา “ผลกระทบของการเปิดตลาดค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับยักษ์ใหญ่ปิโตรเคมีโลก จีน และ GCC ต่อวิชาชีพวิศวกรไทย”
วันที่ 24 ธันวาคม 2567 นายชาลี ขันศิริ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมเป็นวิทยากรการเสวนาในหัวข้อ “ผลกระทบของการเปิดตลาดค้าเสรีระหว่างไทยกับยักษ์ใหญ่ปิโตรเคมีโลก จีน และ GCC ต่อวิชาชีพวิศวกรไทย” ร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ณ ห้องสัมมนา อาคารสภาวิศวกร และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 300 ราย จัดโดยสภาวิศกร
การเสวนาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของการเปิดตลาดค้าเสรีระหว่างไทยกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของโลก รวมทั้ง เพื่อเป็นขีอมูลพื้นฐานในการเพิ่มพูนความรู้ต่อการพัฒนาการยกระดับของวิศวกรสาขาวิศวกรรมเคมี
ในการนี้ นายชาลีฯ ร่วมแสดงความเห็นว่า ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกเป็นสมาชิกของ WTO เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหรือยกเว้นภาษีจากอัตราปกติ (MFN) รวมทั้ง มีการใช้ประโยชน์จากการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในการเข้าสู่ตลาด (Market Access) ซึ่งการลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การผลิต ให้เป็นไปตามศักยภาพเพื่อให้ผู้ส่งออกปฏิบัติตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) จึงจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ ดังนั้น ภาคเอกชนจึงสามารถมีการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อลดต้นทุนในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออก ทั้งนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อาจมีการใช้เกณฑ์การผลิต อาทิ ปฏิกิริยา Chemical Reaction ในการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทยที่มีวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถในการตรวจรับรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบกระบวนการผลิตเคมีดังกล่าวจะเป็นการยกระดับความสามารถของบุคลากรไทยได้
สำหรับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติก โดยเป็น 1 ใน 9 สาขาอุตสาหกรรม ที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมของประเทศสู่ความยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีร่างแนวทางการปฏิรูปอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติก อาทิ การส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกสู่การผลิตคาร์บอนต่ำ โดยการส่งเสริมเทคโนโลยี องค์ความรู้ การผลิต Green Product และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบรับ Trend อนาคต รวมทั้ง การพัฒนาขีดความสามารถการประกอบการ โดยการพัฒนาตลาดภายในประเทศและการส่งออก และการพัฒนา Green Eco System รองรับการผลิตฐานคาร์บอนต่ำ ดังนั้น จึงเห็นว่าการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้ทันต่อสถานการณ์และแนวโน้มของโลกโดยเฉพาะการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่ควรตระหนักรู้ ติดตามและดำเนินการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน


